Radio Cu

[

Listen Live

]

จุดเริ่มต้น...สถานีวิทยุทดลองของนิสิตจุฬาฯ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ วิทยุจุฬาฯ ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501 จากนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ต้องการใช้ความรู้ด้านการกระจายเสียงในภาคทฤษฎีไปสู่ภาคปฏิบัติ จึงได้ทดลองทำเครื่องส่งขึ้นและพัฒนาจนส่งกระจายเสียงได้จริงเพื่อนำมาใช้แทนการส่งด้วยเสียงตามสายได้ในที่สุด ซึ่งในระยะแรกของการก่อตั้งนั้น วิทยุจุฬาฯเป็นเพียงชมรมแสงและเสียงที่ขึ้นอยู่กับสโมสรนิสิตจุฬาฯ ภายใต้การดูแลของอาจารย์และคณะที่ปรึกษา โดยมีประธานสโมสรนิสิตจุฬาฯ ทำหน้าที่ในการบริหาร ไม่มีโครงสร้างการบริหารที่ชัด... See more

Bangkok FM|101.5
จุดเริ่มต้น...สถานีวิทยุทดลองของนิสิตจุฬาฯ

สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ วิทยุจุฬาฯ ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501 จากนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ต้องการใช้ความรู้ด้านการกระจายเสียงในภาคทฤษฎีไปสู่ภาคปฏิบัติ จึงได้ทดลองทำเครื่องส่งขึ้นและพัฒนาจนส่งกระจายเสียงได้จริงเพื่อนำมาใช้แทนการส่งด้วยเสียงตามสายได้ในที่สุด ซึ่งในระยะแรกของการก่อตั้งนั้น วิทยุจุฬาฯเป็นเพียงชมรมแสงและเสียงที่ขึ้นอยู่กับสโมสรนิสิตจุฬาฯ ภายใต้การดูแลของอาจารย์และคณะที่ปรึกษา โดยมีประธานสโมสรนิสิตจุฬาฯ ทำหน้าที่ในการบริหาร ไม่มีโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจน มีนิสิตเป็นผู้จัดและควบคุมการส่งกระจายเสียง ไม่มีกำหนดเวลาการออกอากาศที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของนิสิต เพราะเป็นเพียง "สถานีวิทยุทดลอง" ที่ยังไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 ได้รับงบประมาณการดำเนินงานจากค่าบำรุงสโมสรฯ และเงินช่วยเหลือจากอาจารย์ นิสิตเก่า และปัจจุบันมีสถานที่ทำการตั้งอยู่ที่ตึกจักรพงษ์ ชั้น 2

ต่อมาสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้แสดงจุดยืนทางการเมือง และได้ติดต่อกับองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USOM เพื่อขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆในการกระจายเสียงจาก USIS (United State Information Service) ทำให้ได้เครื่องส่งกระจายเสียงที่ใช้ในกิจการทหาร คือ เครื่องส่ง Medium Wave ระบบ AM แบบ BC-610 กำลังส่ง 250 วัตต์ ความถี่ 1080 กิโลไซเคิล มาใช้งาน ด้วยสัญญาเช่าที่มีกำหนดเวลา 99 ปี และค่าเช่าเครื่องปีละ 1 เหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ขอบเขตการกระจายเสียงขยายกว้างออกไปสู่ภายนอกมหาวิทยาลัย แต่เมื่อดำเนินการไปได้ในระยะหนึ่ง วิทยุจุฬาฯได้นำเสนอเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในวงกว้างขึ้น ผู้บริหารระดับสูงของจุฬาฯในสมัยนั้น จึงเข้ามาควบคุมการบริหารและจำกัดเวลาการส่งกระจายเสียง และให้ออกอากาศได้แต่เฉพาะช่วงกลางวัน ส่วนในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ฟังค่อนข้างมากนั้น ห้ามออกอากาศ ซึ่งในที่สุดก็มีคำสั่งให้ยุติการดำเนินงานและปิดสถานีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2505 เป็นต้นไป

ฟันฝ่าเพื่อหยัดยืน

3 ปีต่อมา เลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอเรื่องสถานีวิทยุจุฬาฯให้มหาวิทยาลัยทบทวน ส่งผลให้วิทยุจุฬาฯ สามารถส่งกระจายเสียงอย่างเป็นทางการได้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2508 โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้ควบคุมและดำเนินงานเอง มีหน่วยโสตทัศนศึกษากลาง สำนักเลขาธิการมหาวิทยาลัย เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และศาสตราจารย์สำเภา วรางกูร ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถานีคนแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา กิจกรรมของมหาวิทยาลัย ความบันเทิง โดยการดำเนินการเน้นหนักเพื่อกิจการภายในชุมชนของมหาวิทยาลัย มีโครงสร้างการบริหารงานอย่างเป็นทางการ และได้รับการอนุมัติให้ใช้คลื่นความถี่ด้วยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ด้วยระบบ FM Stereo Multiplex ความถี่ 101.5 MHz. กำลังส่ง 1 kilowatt เสาอากาศสูง 48 เมตร ตั้งอยู่ที่ คณะครุศาสตร์ ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เติบโตและพัฒนา

พ.ศ. 2520 วิทยุจุฬาฯ โอนมาสังกัดฝ่ายวิชาการ เพื่อให้การปฏิบัติงาน เป็นไปอย่างสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยที่เน้นการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และได้้แต่งตั้งศาสตราจารย์อาภรณ์ เก่งพล ให้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถานีคนที่ 2 โดยมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนในการควบคุมการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการบริหารสถานี มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารให้เป็นระบบมากขึ้น ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินงานมาจากงบประมาณแผ่นดิน และเงินผลประโยชน์ โดยเริ่มมีรายได้จากผู้อุปถัมภ์รายการซึ่งต่อมาขยายเป็นการโฆษณาและการให้บริการธุรกิจ

การบริหารงานของวิทยุจุฬาฯ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ และในบางครั้งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ต่างๆตลอดเวลาด้วยการปรับโอนไปสังกัดฝ่ายการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหน่วยงานฝ่ายวิชาการ ได้มีการกำหนดนโยบายของวิทยุจุฬาฯว่าควรมีบทบาทในสังคมให้มากขึ้น และดำเนินบทบาทของการเป็นสถานีวิทยุสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้ และแสดงบทบาทเป็นสื่อมวลชนที่ชี้นำสังคม โดยได้มีการจัดหาเครื่องส่งใหม่ ที่มีกำลังส่ง 5 Kilowatts และปรับปรุงเสาสูงเป็น 120 เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายเสียง ย้ายสถานที่ตั้งมาอยู่ที่อาคารวิทยพัฒนา ชั้น 7 โดยมีรองศาสตราจารย์ จุมพล รอดคำดี เป็นหัวหน้าสถานีคนที่ 3 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน

ก้าวที่กล้าและท้าทาย

พ.ศ.2535 จากเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" วิทยุจุฬาฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็น"สื่อดีเด่นประเภทรายการวิทยุ" อันเป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนที่ใหข้อมูลตามความเป็นจริง จนปัญหาของบ้านเมืองได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในขณะนั้น ได้สนับสนุนให้เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อขออนุมัติปรับปรุงการบริหารงานวิทยุจุฬาฯ ในการประชุมครั้งที่ 520 วันที่ 6 ตุลาคม 2535 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวด้านการบริหารจัดการในรูปแบบ "วิสาหกิจ" ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย และขยายกิจการที่ดำเนินการอยู่ให้สามารถรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นให้มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล ตามบทบาทของสถานีวิทยการศึกษาและข่าวสาร สะท้อนบทบาทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคมเด่นชัดขึ้น โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการ เพื่อปรับปรุงการบริหารและการจัดการของสถานีวิทยุจุฬาฯจากระบบราชการเป็นวิสาหกิจ ขยายเวลาส่งกระจายเสียงเริ่มตั้งแต่ 6.00 น. - 24.00 น. ทุกวัน และเพิ่มการผลิตรายการ การศึกษา ข่าว สารคดี และรายการถ่ายทอดสดนอกสถานี พร้อมทั้งมีการปรับปรุงคุณภาพของการผลิตรายการให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และ มหาวิทยาลัยมุ่งที่จะให้สถานีนำรายได้ที่เกิดขึ้นไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของสถานีเอง ดังนั้นจึงกำหนดให้ "สถานีวิทยุสามารถมีรายได้ของตนเอง โดยไม่เป็นหน่วยงานที่แสวงหากำไร"

พ.ศ. 2540 สถานีวิทยุจุฬาฯ ได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานไปสู่ "วิสาหกิจเต็มรูปแบบ" ซึ่งการบริหารงานในรูปแบบนี้ทำให้ขั้นตอนการสั่งการต่างๆลดลง มีความเป็นอิสระในการดำเนินงานที่เพิ่มมากขึ้น มีคณะกรรมการบริหารเพียงชุดเดียวเป็นผู้กำหนดนโยบายและงบประมาณ และทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารสถานี ผ่าน กรรมการผู้อำนวยการ ที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหาร โดยตำแหน่ง และใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ซึ่งหมายความถึง สถานีวิทยุของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ วิทยุจุฬาฯยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เพื่อปรับปรุงเสาส่งกระจายเสียงให้มีความสูงเป็น 150 เมตร

ยังคงก้าวต่อเนื่อง และต้องก้าวต่อไป

พ.ศ.2547 คณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุจุฬาฯ ได้มีมติเห็นสมควรให้มีการปรับปรุงการดำเนินงานของสถานีอีกครั้งหนึ่งใน 3 ด้านคือ ด้านโครงสร้างองค์กร ด้านบุคลากร และ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้การบริหารจัดการสามารถรองรับภารกิจ การเป็นสถานีวิทยุที่สามารถส่งกระจายเสียงได้ทั้งทางอากาศ และระบบทางสายด้วยระบบมัลติมีเดียครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และมีบทบาทการเป็นผู้นำสถานีวิทยุในเครือข่ายสถาบันการศึกษา สามารถให้ความรู้ทางวิชาการ แต่ละกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ด้วยรูปแบบรายการที่เหมาะสม และมีเนื้อหาที่เป็นองค์ความรู้จากคณะและสถาบันในมหาวิทยาลัย ผลการปรับปรุงทำให้เกิดช่องทางการรับฟังที่เพิ่มขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ของสถานี www.curadio.chula.ac.th และมีการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการผลิตรายการร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เช่น "เครือข่ายพันธมิตรสถานีวิทยุสถาบันการศึกษา" ผลิตและออกอากาศรายการเครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบัน ที่สามารถความร่วมมือและขยายพื้นที่การออกอากาศของสถานีวิทยุสถาบันการศึกษาไปทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 54 จังหวัด ในระดับประเทศ สามารถผลิตรายการ "สานสัมพันธ์ไทยจีน" ร่วมกับ สถานีวิทยุ CRI ปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อออกอากาศได้ทุกวันผ่านเทคโนโลยีต่างๆที่ทันสมัยด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า

พ.ศ. 2549 วิทยุจุฬาฯ ปรับปรุงห้องออกอากาศเพื่อรองรับการส่งกระจายเสียงในระบบดิจิตอลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

พ.ศ. 2550 จัดหาเครื่องส่งใหม่ กำลังส่ง 5 kilowatts แบบ Solidstate ทดแทนเครื่องส่งเดิมที่มีอายุการใช้งานกว่า 17 ปี ผลจากการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานของสถานีในด้านโครงสร้างองค์กร ด้านบุคลากร และด้านเทคโนโลยี ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับจาก พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ส่งผลให้วิทยุจุฬาฯเป็นวิทยุที่มีรายได้พอต่อการดำเนินงานและพัฒนาองค์การ มีการประกันคุณภาพ และมีบทบาทการเป็นผู้นำสถานีวิทยุในเครือข่ายสถาบันการศึกษา ที่สามารถส่งกระจายเสียงได้ทางอากาศและทางสายด้วยระบบมัลติมีเดียครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยรูปแบบรายการที่มีเนื้อหา และองค์ความรู้ที่มาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรลุตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กำหนดไว้ทุกประการ

พ.ศ. 2551 - 2552 ปรับปรุงเสาส่งกระจายเสียงแบบ Guyed Mast Tower ความสูง 151.5 เมตร และสายอากาศแบบ Vertical ทำให้คุณภาพการกระจายเสียงมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ก้าวสู่ สถานีวิทยุแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพในระดับสากล ISO 9001

จากการที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 กำหนดให้คลื่นความถี่ถือเป็นสาธารณะสมบัติของชาติ และรัฐต้องจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้คลื่นความถี่ด้วยนั้น วิทยุจุฬาฯ ในฐานะสถานีวิทยุของสถาบันการศึกษา ได้ตระหนักถึงผล- กระทบที่จะต้องได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายดังกล่าว วิทยุจุฬาฯจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อรองรับแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งการเตรียมความพร้อมที่สำคัญด้านหนึ่งคือการบริหารจัดการภายใน ที่จำเป็นต้องเป็นระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ได้รับการประกันและรับรองในระบบมาตรฐานสากล วิทยุจุฬาฯ จึงปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ เพื่อเข้าสู่มาตรฐานตามระบบ ISO 9001:2000 และผ่านการตรวจรับรองครั้งแรก จาก BVQI ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2546 และได้รับการรับรองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2552)

© LogFM.com, 2009-2024 (2024-04-04,22:15:45)